หน้าแรก > รอบรู้เรื่องตา > รอบรู้เรื่องตา

สายตาผิดปกติกับการปวดศรีษะ อ่าน 18,028

อาการปวดศีรษะเป็นการเจ็บป่วยที่พบบ่อยที่สุดอย่างหนึ่ง ดังจะเห็นได้จาก สถิติการจำหน่ายยาแก้ปวดภายในประเทศ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าพันล้านบาทต่อปี แม้คนส่วนใหญ่จะเข้าใจดีว่าอาการปวดศีรษะโดยมากเกิดจากความเครียด ซึ่งไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่าความผิดปกติของสายตาเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของอาการปวดศีรษะ ซึ่งความจริงแล้วมิได้เป็นเช่นนั้น
 

สาเหตุของการปวดศีรษะ แบ่งออกเป็น กลุ่มใหญ่ คือ

1. ปวดเนื่องจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ
2. ปวดเนื่องจากไมเกรน
3. ปวดเนื่องจากโรคภายในศีรษะ ตา หู และฟัน เป็นต้น
 

1. การปวดศีรษะเนื่องจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ

เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด ผู้ป่วยอาจรู้สึกสับสนเกี่ยวกับสาเหตุของการปวด เพราะบ่อยครั้งที่ มีอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณหลังคอและท้ายทอย กลับทำให้รู้สึกปวดบริเวณหน้าผาก ขมับ ท้ายทอย หรือรอบกระบอกตา แทนที่จะปวดในบริเวณที่กล้ามเนื้อหดเกร็งโดยเฉพาะ
 
สาเหตุของการปวดศีรษะ เนื่องจากกล้ามเนื้อหดเกร็ง อาจเป็นผลจากความเครียดที่เพิ่มขึ้นบางขณะในชีวิตประจำวัน เช่น เครียดกับการทำงานหรือปัญหาครอบครัว จากการหลับนอนหรือทำงานในอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามอาการปวดศีรษะที่เกิดจากสาเหตุดังกล่าวนี้ จะเกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งคราวเท่านั้น และสามารถบรรเทาด้วยยาแก้ปวดทั่วไป
 
ผู้ป่วยที่ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อหดเกร็ง บางรายอาจมีอาการเรื้อรัง เนื่องจากสัมพันธ์กับโรคประสาทที่มีอาการซึมเศร้า ภาวะของการมีข้อต่อกระดูกอักเสบ หรือเป็นผู้ที่มีบุคลิกเครียดหรือกังวลอยู่
 
อาการปวดศีรษะที่เกิดจากสายตาเพลีย มีสาเหตุจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเช่นกัน แต่เป็นกล้ามเนื้อตา ซึ่งต้องทำงานมากเมื่อดูใกล้ติดต่อกันครั้งละนานๆ อาการปวดศีรษะที่เกิดจากสายตาเพลีย จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้ป่วยใช้สายตาอย่างหนักเท่านั้น
 

2. การปวดศีรษะเนื่องจากไมเกรน

กลไกของการปวดเกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดภายในศีรษะ ซึ่งมักจะพบบ่อยกับบุคคลในครอบครัวเดียวกัน โดยเฉลี่ยจะมีโอกาสเกิดขึ้นประมาณหนึ่งต่อสิบคน แม้แต่เด็กเล็กก็อาจเกิดอาการเช่นนี้ได้ เช่น บางคนจะรู้สึกปวดศีรษะอย่างรุนแรงเป็นช่วงสั้นๆ บางคนมีอาการเห็นแสงวิ่งเป็นเส้นหยัก แล้วตามมาด้วยอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ขณะที่บางคนเห็นแค่แสงแต่ไม่มีอาการปวด และบางคนที่มีอาการปวดศีรษะรุนแรงแต่ไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย 
 
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เป็นไมเกรนจะมีลักษณะอาการที่เหมือนกัน คืออาการปวดมักไม่ต่อเนื่อง จะเป็นรุนแรงในซีกใดซีกหนึ่งของศีรษะ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน แต่ส่วนใหญ่ไม่มีผลแทรกซ้อนที่รุนแรง การเกิดของไมเกรนมักสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของระดับความเครียดอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นควรป้องกันไม่ให้เกิดความเครียด แทนที่จะรักษาเมื่อเกิดอาการขึ้นแล้ว
 

3. การปวดเนื่องจากโรคในศีรษะและสาเหตุอื่นๆ

การปวดศีรษะที่เกิดจากโรคตา มักจะเกิดอาการที่ตา หรือคิ้วของข้างที่เป็น และมักจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น สายตามัวมองเห็นไฟเป็นสีรุ้งหรือสู้แสงไม่ได้ เป็นต้น
 
ส่วนอาการปวดศีรษะที่เกิดจากโรคของหู ฟัน ข้อขากรรไกร หรือเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้า มักมีลักษณะแตกต่างจากอาการปวดศีรษะทั่วไปได้ ความแตกต่างนี้จะช่วยในการวินิจฉัยหาสมมติฐานของโรคได้
 
ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะเรื้อรังหรือเป็นๆ หายๆ ควรตรวจวัดความดันโลหิตด้วย ส่วนอาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นจากเนื้องอก หรือโรคของสมองนั้นพบได้น้อย อาการปวดมักมีลักษณะเฉพาะ เช่น เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน บางครั้งความรุนแรงของอาการปวดศีรษะอาจเปลี่ยนแปลงไปตามอิริยาบถ เช่น ปวดหัวเมื่ออยู่ในท่าที่ศีรษะอยู่ในระดับต่ำ ตลอดจนมีอาการอื่นๆ เช่น ชา มึนงง แขนขาอ่อนแรง หรือชัก นอกจากนี้การมีไข้อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดศีรษะได้
 

การตรวจและวินิจฉัย

อาการปวดศีรษะเป็นปัญหาที่พบบ่อย โดยมากไม่มีอันตรายร้ายแรง ดังนั้น การตรวจสอบอย่างละเอียดทางการแพทย์ จึงทำเฉพาะกรณีผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง หรือเป็นซ้ำบ่อยครั้ง แพทย์ทั่วไปสามารถวิเคราะห์สมสติฐานของโรคได้ ผู้ป่วยที่ปวดศีรษะแล้วมีอาการไม่สบายตาร่วมด้วย จักษุแพทย์จะวินิจฉัยสาเหตุว่าเป็นปัญหาทางตาหรือไม่
 

การรักษา

วิธีการรักษาอาการปวดศีรษะนั้นขึ้นกับสาเหตุ หากเกิดจากโรคที่อันตรายหรือรุนแรง จะใช้วิธีการรักษาโรคที่อันตรายหรือรุนแรง จะใช้วิธีการรักษาโดยการใช้ยาและผ่าตัด หากเกิดจากภาวะจิตซึมเศร้าหรือกังวลเรื้อรัง จิตแพทย์จะเป็นผู้ให้การรักษา ส่วนอาการปวดศีรษะที่เกิดจากไมเกรนหรือความเครียด แพทย์จะให้ยาและแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัว ซึ่งจะช่วยให้อาการดีชื้นมาก กรณีปวดศีรษะเนื่องจากปัญหาทางตา เช่น สายตาผิดปกติหรือใช้แว่นตาไม่ถูกต้อง จักษุแพทย์สามารถตรวจและวินิจฉัยถึงสาเหตุ ตลอดจนให้การรักษาและคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน


 
บทความโดย : จักษุแพทย์โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน