หน้าแรก > รอบรู้เรื่องตา > รอบรู้เรื่องตา

ทำอย่างไร ให้หายจากสายตาสั้น อ่าน 49,080

ทำอย่างไร ให้หายจากสายตาสั้น ?

ผู้ที่มีสายตาสั้น หรือคุณพ่อ คุณแม่ที่มีลูกสายตาสั้นคงจะเกิดคำถามว่า พอจะมีวิธีใดที่ทำให้หายจากภาวะสายตาสั้นหรือชะลอให้การเพิ่มขึ้นของสายตาสั้นเป็นไปอย่างช้าและน้อยที่สุด หลายปีมานี้ จักษุแพทย์และนักวิจัยได้ทำการศึกษาและค้นพบว่า มีบางวิธีที่อาจจะช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้นในวัยเด็กและกลุ่มวัยรุ่นได้

การควบคุมสายตาสั้น คืออะไร?

ถึงแม้จะยังไม่มีวิธีการรักษาสายตาสั้นที่ให้ผลการรักษาที่แน่นอน แต่ปัจจุบันจักษุแพทย์ได้นำเสนอวิธีการที่จะช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้น มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 วิธี ได้แก่ การใช้ยาหยอด Atropine, การใส่คอนแทคเลนส์กดตา (Ortho-K lens), การใส่คอนแทคเลนส์ชนิด multifocal, และการใส่แว่นตาชนิด multifocal

การใช้ยาหยอด Atropine

วิธีนี้เป็นวิธีควบคุมสายตาสั้นที่ใช้มานานหลายปี เป็นการควบคุมในระยะสั้นๆเท่านั้น ยาหยอด atropine เป็นยาหยอดขยายม่านตา ออกฤทธิ์โดยระงับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบริเวณม่านตาทำให้กลไกการเพ่งหยุดทำงานชั่วคราว แต่ในการตรวจตาโดยทั่วไป จักษุแพทย์จะไม่ใช้ atropine ในการขยายม่านตา เนื่องจากจะมีผลข้างเคียง คือ ทำให้ตามัวนานประมาณ 1 สัปดาห์ ในขณะที่ยาหยอดขยายม่านตาที่ใช้ในการตรวจตาปกติจะมีผลทำให้ตามัวเพียง 4-6 ชั่วโมงเท่านั้น ปัจจุบัน atropine ถูกใช้บรรเทาอาการปวดตาจากโรคตาบางชนิด เช่น โรคม่านตาอักเสบ
จากการศึกษา (ปี 1989-2010) ผลของการใช้ atopine ในการชะลอการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้น พบว่า atropine สามารถชะลอการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้นได้ 81% ในกลุ่มเด็กที่มีภาวะสายตาสั้น แต่อย่างไรก็ตาม atropine จะสามารถชะลอการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้นได้เพียงในระยะสั้นๆ เท่านั้น และจากการศึกษาพบว่า การใช้ atropine ที่มีความเข้มข้นสูง (0.1% หรือ 0.5%) เด็กจะมีสายตาสั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากหยุดใช้ยา เมื่อเทียบกับการใช้ atropine ที่มีความเข้มข้นต่ำ (0.01%) เด็กจะมีสายตาสั้นเพิ่มขึ้นอย่างช้ากว่า
ปัจจุบันนี้ วิธีหยอด atropine เพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้นได้รับความนิยมลดลง เนื่องจากยาอาจมีผลข้างเคียงหลายอย่าง เช่น ปัญหาเรื่องการแพ้แสงจากการที่ม่านตาถูกขยายตลอดเวลา หรือผลข้างเคียงกับระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ระบบความดันและหลอดเลือด ระบบหัวใจ 

การใส่คอนแทคเลนส์กดตา

วิธีนี้จะเป็นการใส่คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งในช่วงระหว่างที่นอนหลับ เป็นการแก้ไขภาวะสายตาสั้นแบบชั่วคราว คอนแทคเลนส์ชนิดนี้ เรียกว่า Ortho-K lens นิยมใช้ควบคุมสายตาสั้นในเด็ก พบว่า ในเด็กกลุ่มที่ใส่ Ortho-K lens ติดต่อกันเป็นระยะเวลาหลายปีจะมีค่าสายตาสั้นน้อยกว่าเด็กที่ใส่แว่นตาหรือใส่เฉพาะคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม ortho-k lens ถูกออกแบบมาสำหรับใช้ปรับรูปร่างของกระจกตาโดยเฉพาะ เพื่อให้การมองเห็นดีขึ้น เป็นการรักษาภาวะค่าสายตาผิดปกติที่ไม่ถาวร แต่สามารถใช้รักษาระดับการมองเห็นที่ดีได้ หากเราใส่ Ortho-K lens ได้อย่างต่อเนื่องและถูกวิธี

การใส่คอนแทคเลนส์ชนิด multifocal

คอนแทคเลนส์ชนิด multifocal เป็นคอนแทคเลนส์พิเศษที่ถูกออกแบบให้แต่ละโซนของคอนแทคเลนส์มีกำลังสายตาที่แตกต่างกัน โดยปกติคอนแทคเลนส์ชนิด multifocal จะใช้สำหรับแก้ไขภาวะสายตาสั้น ภาวะสายตายาวแต่กำเนิด และภาวะสายตายาวตามอายุ แต่จักษุแพทย์ พบว่า การใช้คอนแทคเลนส์ชนิด multifocal จะช่วยควบคุมสายตาสั้นได้เช่นกัน จากการศึกษาที่ประเทศออสเตรเลีย จีน และอเมริกาปี 2010 ในเด็กกลุ่มอายุระหว่าง 7-14 ปี ที่มีค่าสายตาสั้น -0.75 ถึง -3.50 D และมีค่าสายตาเอียงไม่เกิน 0.50 D พบว่า 54% ของเด็กที่ใส่คอนแทคเลนส์ชนิด multifocal จะมีการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้นน้อยกว่าเด็กที่ใส่แว่นสายตา

การใส่แว่นตาชนิด multifocal

การใส่แว่นตาชนิด multifocal เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยในเด็กเล็ก แต่ข้อเสียคือ ผลการควบคุมสายตาสั้นต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีอื่นๆ

การควบคุมสายตาสั้นในผู้ใหญ่

โดยปกติ สายตาสั้นจะเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงอายุประมาณ 20 ปี แต่ในผู้ใหญ่บางรายก็พบว่ามีค่าสายตาสั้นที่เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน เพียงแต่โอกาสที่พบจะน้อยกว่า อย่างไรก็ตามการควบคุมสายตาสั้นในผู้ใหญ่จะมีโอกาสเป็นไปได้น้อยกว่าการควบคุมสายตาสั้นในเด็ก จึงเป็นเหตุผลให้งานวิจัยต่างๆ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการควบคุมสายตาสั้นในเด็กเป็นส่วนใหญ่