หน้าแรก > รอบรู้เรื่องตา > รอบรู้เรื่องตา

มองเห็นจุดดำลอยไปมา อันตรายหรือไม่ อ่าน 170,520

            เงาตะกอนน้ำวุ้นตา (Floaters) คือ เงาดำเล็กๆ คล้ายหยากไย่ที่เกิดจากตะกอนในน้ำวุ้นตา เมื่อเรามองออกไปในบริเวณที่มีแสงสว่าง มองพื้นผิวที่เป็นสีขาว หรือมองท้องฟ้าใส เราจะมองเห็นเงาดำเล็กๆนี้ลอยไปลอยมา แต่หากเราอยู่ในที่ร่ม ในบ้าน หรือในที่มืด เราจะมองไม่เห็นเงาดำเล็กๆนั้น
            รูปร่างของเงาดำเล็กๆนั้น จะมีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามรูปร่างของตะกอนในน้ำวุ้นตา เช่น เป็นจุด  หยากไย่คล้ายใยแมงมุม เป็นต้น คนปกติทั่วไป อาจเห็นเงาดำได้ 2 - 3 จุด ส่วนใหญ่ไม่มีอันตราย เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของตาเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น โดยผู้ที่มีสายตาสั้น หรือหลังการสลายต้อกระจก จะพบปรากฏการณ์นี้ได้มากกว่าคนปกติ แต่หากมีจุดเงาดำจำนวนมากหรือเพิ่มมากขึ้นจากเดิมจนผิดสังเกต ต้องรีบพบจักษุแพทย์ทันที เนื่องจากอาจเกิดการฉีกขาดของจอประสาทตา ทำให้มีเลือดออกในน้ำวุ้นตาได้
 

สาเหตุ

            ช่องว่างภายในลูกตาจะมีน้ำวุ้นตาเหมือนเยลลี่บรรจุอยู่เต็ม ซึ่งไม่มีการเคลื่อนไหว แต่สำหรับผู้ที่มีอายุมากขึ้น หรือมีภาวะสายตาสั้นมาก หรือโดนกระแทกที่บริเวณตาหรือศีรษะ จะทำให้น้ำวุ้นเปลี่ยนสภาพเป็นของเหลวและตกตะกอนได้ เงาของตะกอนอาจจะใสหรือมีสีเทา ซึ่งจะลอยไปลอยมาตามการไหลของน้ำวุ้นเมื่อมีการกลอกตาไปมา
 

อาการ

            การที่น้ำวุ้นเปลี่ยนสภาพเป็นของเหลว เป็นปรากฏการณ์ตามปกติตามอายุ ดังนั้น การมองเห็นจุดเงาดำ 2 - 3 จุด  มักเป็นเรื่องปกติ แต่ในบางรายภาวะที่เกิดการตกตะกอนนี้ เป็นการแสดงถึงภาวะที่น้ำวุ้นตาหดตัวและแยกออกจากจอประสาทตาไปพร้อมกัน บางครั้งดึงรั้งจนจอประสาทตาฉีกขาดได้ และถ้าตำแหน่งที่ฉีกขาด ตรงกับเส้นเลือดที่จอประสาทตา เลือดจะไหลเข้าไปในน้ำวุ้นตา ทำให้เห็นเงาดำเป็นจุดเล็กๆ จำนวนมาก ในกรณีนี้อันตรายมาก เพราะจอประสาทตาอาจลอกหลุดได้
            บางรายในระหว่างที่น้ำวุ้นกำลังดึงจอประสาทตา จะมองเห็นไฟแลบเป็นรูปโค้ง เหมือนเห็นแสงแฟลชจากการถ่ายรูป มักจะเห็นในขณะกรอกตาไปทางใดทางหนึ่งซึ่งจะเห็นได้ชัดในที่มืด โดยการเห็นไฟแลบนี้อาจจะเป็นอยู่ 2 - 3 วัน จนถึง 6 เดือน ซึ่งถือเป็นสัญญาณเตือนที่น้ำวุ้นตาจะดึงรั้งจอประสาทตาให้ฉีกขาดได้
 
            ดังนั้น หากยังไม่ได้รับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์ ก็จะไม่สามารถทราบได้ว่า ตะกอนน้ำวุ้นตาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยหรือไม่ ดังนั้น ถ้าสังเกตเห็นมีเงาดำที่เกิดขึ้นในทันทีทันใด หรือเห็นแสงไฟแลบ ควรรีบพบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียดโดยเร็ว
 

การรักษา

            แม้ปัจจุบันยังไม่มียาที่จะรักษาให้ตะกอนน้ำวุ้นตาละลายไปได้ แต่เงาดำที่เกิดจากการตกตะกอนตามธรรมชาติของน้ำวุ้นตานั้น ไม่มีอันตรายใดๆ ต่อดวงตา ไม่มีผลที่จะทำให้สายตามัวลง และโดยทั่วไปจะไม่เป็นมากขึ้น นอกจากจะทำให้เกิดความรำคาญและสร้างความวิตกกังวลให้เท่านั้น
            เมื่อผู้ป่วยเข้าใจแล้วว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามวัยเช่นเดียวกับสีของเส้นผมที่เปลี่ยนไป  ความวิตกกังวลก็ผ่อนคลายลง และเกิดความเคยชินจนไม่ทันได้สังเกตเห็นเงาดำนั้น ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องทำการผ่าตัดเพื่อเอาตะกอนน้ำวุ้นตาออก เพราะประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงด้านอื่นๆ
            ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกรำคาญได้ในขณะอ่านหนังสือ เพราะเงาตะกอนน้ำวุ้นมาบัง รบกวนประสาทการมองเห็นของดวงตา วิธีการแก้ไข คือ ให้กลอกตามองขึ้นลงไปรอบๆ จะทำให้น้ำวุ้นภายในลูกตาไหลวน ตะกอนก็จะเคลื่อนย้ายตำแหน่งไปที่จุดอื่น ทำให้ไม่บังการมองเห็น
         

ควรได้รับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์หรือไม่ ถ้ามีเงาตะกอนน้ำวุ้นตาหรือไฟแลบ        

            ผู้ป่วยที่เห็นเงาตะกอนน้ำวุ้นตาหรือไฟแลบ อาจมีความผิดปกติของจอประสาทตา คือ มีรูรั่วหรือมีรอยฉีกขาดเกิดขึ้นร่วมด้วย ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที รอยฉีกขาดนี้ก็จะลุกลามเป็น จอประสาทตาหลุดลอก ซึ่งต้องได้รับการผ่าตัดรักษาอย่างเร่งด่วน
            การรักษารูรั่วหรือรอยฉีกขาดที่จอประสาทตาที่ยังไม่หลุดลอก ทำได้ง่ายโดยใช้เลเซอร์ ยิงอุดรอยรั่วได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่มองเห็นจุดเงาดำลอยไปลอยมา ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจว่า จอประสาทตาอ่อนแอและมีโอกาสเป็นรูรั่วหรือไม่ แต่ในรายที่เห็นไฟแลบและมองเห็นเงาตะกอน น้ำวุ้นตามากกว่า 10 จุด ควรพบจักษุแพทย์ทันที เพราะมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะมีการเกิดรูรั่วที่ จอประสาทตาได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.rutnineyehospital.com