คำถามของคุณเมื่อกดยืนยันและส่งคำถาม ชื่อและคำถามของคุณอาจปรากฏบนเว็บไซต์ของเรา

 
 
 
X
หน้าแรก > รอบรู้เรื่องตา > ดวงตาของเรา

ดวงตาของเรา

วงตาของเรานั้นเปรียบเสมือนกับกล้องถ่ายรูป การทำให้ได้ภาพถ่าย 1 ภาพ จะต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของเลนส์กล้องและฟิล์ม เช่นเดียวกันกับดวงตาของเราที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของกระจกตาและเลนส์แก้วตาในการหักเหแสงและปรับโฟกัส จอประสาทตาจะทำหน้าที่รับภาพจากเลนส์แก้วตา ซึ่งถูกส่งมาเป็นพลังงานแสงแล้วจึงแปลงกลับเป็นพลังงานไฟฟ้า ก่อนส่งต่อไปยังสมองโดยผ่านเส้นประสาทตาเพื่อแปลงพลังงานไฟฟ้ากลับเป็นภาพให้เราเห็นได้

หากองค์ประกอบหลักของดวงตาทำงานผิดปกติ จะส่งผลให้เรามองเห็นภาพผิดปกติตามไปด้วย

องค์ประกอบและหน้าที่ของดวงตาแต่ละส่วนมีดังนี้

กระจกตา

     กระจกตาเป็นส่วนที่ใสและโปร่งแสง มีลักษณะโค้งอยู่หน้าสุดของดวงตา เนื่องจากกระจกตาต้องมีความใสเพื่อเป็นทางผ่านของแสง จึงไม่มีเส้นเลือด แต่เนื่องจากมีปลายเส้นประสาทตามารวมกันมากกว่าส่วนอื่น จึงทำให้กระจกตาเป็นส่วนที่ไวต่อความรู้สึกมาก กระจกตาทำหน้าที่หักเหแสงร่วมกับเลนส์แก้วตา และช่วยในการปรับโฟกัสภาพ

ม่านตา

     ม่านตามีเม็ดสีจำนวนมากจึงเป็นส่วนที่ทำให้เกิดสีของดวงตา ประกอบด้วยกล้ามเนื้อมัดเล็กๆ ซึ่งใช้ในการควบคุมขนาดของรูม่านตาโดยอาศัยการหดหรือขยายตัวของกล้ามเนื้อเหล่านี้ในการควบคุมปริมาณแสงที่เข้าสู่ดวงตา ม่านตาจึงมีหน้าที่เปรียบเสมือนกับชัตเตอร์ในกล้องถ่ายรูป

รูม่านตา

     รูม่านตาคือรูกลมบริเวณตรงกลางของม่านตา ขนาดของรูม่านตาถูกควบคุมโดยกล้ามเนื้อม่านตาที่ชื่อว่า กล้ามเนื้อ dilator และกล้ามเนื้อ sphincter รูม่านตาจึงมีหน้าที่ควบคุมปริมาณแสงที่เข้าสู่ดวงตา นอกจากนี้แพทย์ยังสามารถตรวจสอบการทำงานของระบบประสาทได้โดยดูจากการตอบสนองของรูม่านตาต่อแสง

เลนส์แก้วตา

     เลนส์แก้วตาอยู่หลังจากม่านตา ประกอบด้วยเลนส์ชั้นใน (nucleus) และถูกล้อมรอบด้วยเลนส์ชั้นนอก (cortex) ซึ่งมีลักษณะอ่อนนุ่มกว่า เลนส์แก้วตานี้จะถูกหุ้มด้วยถุงหุ้มเลนส์ซึ่งมีลักษณะเหมือนแคปซูลและถูกยึดอยู่ในดวงตาด้วยเส้นใยชนิดหนึ่งที่เรียกว่า zonules เลนส์แก้วตาทำหน้าที่รับภาพที่อยู่ในรูปของพลังงานแสง เพื่อปรับโฟกัสให้แสงนี้ตกลงบนจอประสาทตาพอดี เพื่อให้จอประสาทตารับภาพได้ชัดที่สุด

จอประสาทตา

     จอประสาทตาคือเนื้อเยื่อที่มีลักษณะเป็นชั้นๆ อยู่ด้านหลังสุดของลูกตา ประกอบด้วยเซลล์รับแสงนับล้านเซลล์ เซลล์รับแสงในจอประสาทตามีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ เซลล์รูปแท่ง (rods) และเซลล์รูปกรวย (cones) ซึ่งเซลล์รูปกรวยจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรามองเห็นสีสันต่างๆ ได้ พบมากบริเวณจุดศูนย์กลางของจอประสาทตา หรือที่เรียกว่า fovea จอประสาทตาจะทำหน้าที่รับภาพจากเลนส์แก้วตา ซึ่งถูกส่งมาเป็นพลังงานแสงแล้วจึงแปลงกลับเป็นพลังงานไฟฟ้า ก่อนส่งต่อไปยังสมองโดยผ่านเส้นประสาทตาเพื่อแปลงพลังงานไฟฟ้ากลับเป็นภาพให้เราเห็นได้

เส้นประสาทตา

     เส้นประสาทตาอยู่ต่อจากส่วนหลังสุดของดวงตาใกล้กับบริเวณจุดรับภาพ (macula) ทำหน้าที่ส่งผ่านพลังงานไฟฟ้าจากจอประสาทตาไปสู่สมอง แพทย์สามารถตรวจเห็นขั้วประสาทตา (Optic disc) ได้จากการใช้เครื่องตรวจตา ที่เรียกว่า Ophthalmoscope โดยส่องตรวจผ่านทางรูม่านตา

ส่งคำถาม