หน้าแรก > รอบรู้เรื่องตา > รอบรู้เรื่องตา

Monovision LASIK สำหรับกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป อ่าน 25,888

     Monovision LASIK คือ เทคนิคเฉพาะในการทำเลสิค โดยมีวัตถุประสงค์คือ เพื่อให้ไม่ต้องใส่แว่นตาสำหรับการมองใกล้ การทำ Monovision LASIK จึงเป็นการแก้ไขค่าสายตาให้มองเห็นใกล้และไกลชัด ในตาคนละข้าง กล่าวคือ ตาข้างนึงจะถูกแก้ไขให้มองเห็นไกลชัดเจน ในขณะที่ตาอีกข้างนึงจะถูกแก้ไขให้มองเห็นใกล้ชัดเจน
 
ภาวะสายตายาวตามอายุ กับความสามารถในการเพ่งที่ลดลง

     สำหรับคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปที่ต้องการทำผ่าตัดแก้ไขค่าสายตา มักจะพบกับภาวะสายตายาวตามอายุ ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากความสามารถในการเพ่งลดลง การสูญเสียความสามารถในการเพ่งนี้ เกิดจากการที่เลนส์แก้วตาเริ่มมีลักษณะที่แข็งตัวขึ้น ยืดหยุ่นได้น้อยลง จนทำให้เราปรับโฟกัสเพื่อให้มองเห็นภาพชัดในระยะใกล้ได้ยากขึ้น เราจึงต้องพึ่งพาแว่นตาสำหรับมองใกล้ (reading glasses) เพื่อช่วยให้มองใกล้ได้ดีขึ้น ภาวะสายตายาวตามอายุจะเกิดในช่วงอายุ 40-50 ปี ขึ้นกับค่าสายตาของแต่ละคนที่มีอยู่เดิม
 
     การให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่มีภาวะสายตายาวที่ต้องการทำเลสิคจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่จักษุแพทย์และผู้ป่วยเองต้องได้พูดคุย และตัดสินใจร่วมกัน บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยต้องการทำเลสิค ไม่เคยทราบว่า หลังจากทำเลสิคแล้วยังคงต้องใส่แว่นตาสำหรับมองใกล้อยู่ การให้การรักษากับผู้ป่วยที่มีภาวะสายตายาวตามอายุร่วมด้วย จึงต้องพิจารณาควบคู่กับค่าสายตาที่มีอยู่เดิม
 
1. ผู้ป่วยที่มีภาวะสายตายาว (hyperopia) และผู้ป่วยที่มีภาวะสายตาเอียงมาก (astigmatism) ที่แต่เดิมอาจต้องใส่แว่นที่เป็นเลนส์ชนิด bifocal เพื่อให้มองเห็นได้ชัดทั้งไกลและใกล้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะค่อนข้างเข้าใจเป็นอย่างดีว่าการมองเห็นระยะใกล้ จำเป็นต้องใส่แว่นตามองใกล้ตลอดเวลา แนวทางในการรักษาจึงมี 2 ทางเลือก คือ แก้ไขค่าสายตาเพื่อให้มองเห็นไกลชัดทั้ง 2 ข้าง แต่ต้องใส่แว่นอ่านหนังสือทุกครั้งเมื่อต้องการมองใกล้ หรือ ใช้เทคนิค monovision 
 
2. ผู้ป่วยที่มีภาวะสายตาสั้น(myopia) ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะแตกต่างกับกลุ่มแรก คือ สามารถมองใกล้หรืออ่านหนังสือในระยะใกล้ได้ชัดโดยไม่ต้องใส่แว่น แต่จะใส่แว่นเพื่อให้มองเห็นไกลชัดเท่านั้น การพิจารณาแนวทางการรักษาสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงมีความหลากหลาย เช่น ผู้ป่วยบางรายเลือกที่จะไม่ทำเลสิก หากหลังจากทำเลสิคแล้ว ทำให้สูญเสียความสามารถในการมองเห็นใกล้ ในขณะที่ผู้ป่วยบางราย ที่ใช้สายตาสำหรับมองไกลเป็นหลัก ก็เลือกที่จะทำเลสิก แล้วใส่แว่นตอนอ่านหนังสือแทน และยังมีผู้ป่วยบางรายที่เลือกรักษาโดยใช้ monovision แทน

3. ผู้ป่วยที่มีเฉพาะภาวะสายตายาวตามอายุ (presbyopia) ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะเลือกเทคนิค monovision โดยการแก้ไขสายตาเพียง 1 ข้างเพื่อให้มองใกล้ชัด

ผลข้างเคียงของ monovision
 
     ผลข้างเคียงของ monovision คือ การที่ตาทั้ง 2 ข้างมีค่าสายตาไม่เท่ากัน (anisometropia) ซึ่งอาจส่งผลให้ การมองเห็นภาพทั้งไกลและใกล้ไม่ชัดเจน เห็นแสงแตกกระจาย (glare) โดยเฉพาะเวลากลางคืน ความสามารถในการมองเห็นในตอนกลางคืนลดลงโดยเฉพาะขณะขับรถ ความสามารถในการมองเห็นความลึกของภาพลดลง หรือรู้สึกไม่ค่อยสบายตา แต่ผลข้างเคียงเหล่านี้ จะค่อยๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป และเมื่อผู้ป่วยเริ่มที่จะปรับตัวให้เคยชินกับค่าสายตาแบบใหม่ ในผู้ป่วยที่เคยใส่ contact lenses แบบ monovision แล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวได้เร็วขึ้น
 
การทดสอบตาข้างเด่น (Dominant eye)
 
     
     ตาข้างเด่น คือ ตาที่เรามักจะใช้ในการมองไกล การทดสอบตาข้างเด่น เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากของการทำ monovision วิธีการทดสอบมีหลายวิธี แต่วิธีที่พบบ่อย ได้แก่ Miles test คือ การให้ผู้ป่วยยืดแขนออกทั้ง 2 ข้าง และใช้มือทั้ง 2 ข้าง ประสานกันโดยเว้นให้เกิดเป็นรูเล็กๆ ที่สามารถมองผ่านได้ ในช่วงแรก ผู้ป่วยจะต้องลืมตาทั้ง 2 ข้างเพื่อมองวัตถุที่อยู่ไกลออกไปผ่านรูเล็กๆ นี้ จากนั้น จะทำการทดสอบตาข้างเด่นโดยให้ผู้ป่วยหลับตาทีละข้าง  ตาข้างที่ยังสามารถมองเห็นวัตถุนั้นได้อยู่ จะเป็นตาข้างเด่น ประมาณ 75% ของประชากร จะมีตาขวาเป็นตาข้างเด่น ในขณะที่ 25% ที่เหลือจะมีตาซ้ายเป็นตาข้างเด่นแทน

 
การทดลองใส่ contact lens แบบ monovision
 
     หลังจากที่ผู้ป่วยตัดสินใจทำเลสิกแบบ monovision ขั้นตอนต่อไป จักษุแพทย์จะให้ทดลองใส่คอนแทคเลนส์แบบ monovision โดยตาข้างเด่นจะเลือกค่าคอนแทคเลนส์แบบให้มองไกลชัด ในขณะที่ตาอีกข้างจะเลือกค่าคอนแทคเลนส์ให้ค่อนไปทางสายตาสั้นเล็กน้อย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการจำลองให้ผู้ป่วยได้ใช้ค่าสายตาแบบ monovision ในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้จริง ตัวอย่างเช่น หากผู้ป่วยชอบเล่นกอล์ฟ จักษุแพทย์ก็จะแนะนำให้ผู้ป่วยลองใส่คอนแทคเลนส์แบบ monovision ว่ากระทบต่อการเล่นกอล์ฟหรือไม่ หากผู้ป่วยที่รู้สึกว่า monovision ค่อนข้างมีผลข้างเคียงต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จักษุแพทย์ก็จะไม่แนะนำให้ทำเลสิคแบบ monovision
 
วิธีทำผ่าตัด
 
     วิธีทำผ่าตัดจะเหมือนกันกับการทำเลสิกทั่วๆ ไป ยกเว้นเรื่องค่าสายตาที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยการเลือกให้ตาข้างเด่นเห็นไกลชัด และตาอีกข้างสำหรับมองใกล้จะถูกแก้ไขให้เป็นสายตาสั้นเล็กน้อย 

credit
AAO.org

https://petapixel.com/2012/06/05/a-quick-trick-for-figuring-out-which-of-your-eyes-is-dominant/